มารู้จักกับ RFID (อาร์เอฟไอดี) กันดีกว่า
RFID (อาร์เอฟไอดี) ย่อมาจากคำว่า Radio Frequency Identification (เรดิโอ ฟรีเควนซี่) คือ ระบบเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มความสามารถในการคำนวณและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และส่งกำลังโดยคลื่นแม่เหล็ก หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทนการสัมผัสทางกายภาพ เป็นการเอาคลื่นวิทยุมาเป็นคลื่นพาหะ เพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูล RFID มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ที่สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านคลื่นวิทยุ จากระยะห่าง เพื่อตรวจ ติดตามและบันทึกข้อมูลที่ติดอยู่กับป้าย ซึ่งนำไปฝังไว้ในหรือติดอยู่กับวัตถุต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ กล่อง หรือสิ่งของใดๆ สามารถติดตามข้อมูลของวัตถุว่า คืออะไร ผลิตที่ไหน ใคร เป็นผู้ผลิต ผลิตอย่างไร ผลิตวันไหน และเมื่อไหร่ ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกี่ชิ้น และแต่ละชิ้นมาจากที่ไหน รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้นๆ ในปัจจุบันว่าอยู่ส่วนใดในโลก โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสัมผัสหรือต้องเห็นวัตถุนั้นๆก่อน
ในระบบ RFID จะมีองค์ประกอบหลักๆ ด้วยกัน 3 ส่วน คือ
1. ป้าย (Tag, Transponder (แท็ก,ทรานสปอนเดอร์) )

2. เครื่องอ่านป้าย (Reader, Interrogator (รีดเดอร์,อินเทอร์โรเกเตอร์))

3. ฮาร์ดแวร์ หรือ ระบบที่ใช้ประมวลผล
RFID สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานอะไรได้บ้าง
ใช้ในการตรวจจับความเร็วของรถที่วิ่งบนท้องถนน

- โดยหลักการทำงานของระบบเทคโนโลยี RFID จะมีการตรวจจับรถที่วิ่งผ่านจุดที่กำหนดไว้อย่างน้อย 2 จุด เพื่อให้ได้ระยะทางและเวลาที่รถใช้ในการเดินทาง ซึ่งเมื่อนำระยะทางมาหารด้วยเวลาก็จะ สามารถคำนวณความเร็วเฉลี่ยของรถคันดังกล่าว ถ้าคำนวณความเร็วเฉลี่ยแล้วผลปรากฏว่า รถคันดังกล่าวขับเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็จะถือว่ามีความผิดและสามารถเก็บข้อมูลรถคันดังกล่าวเพื่อทำการออกใบสั่งตามไปที่บ้านได้อีกด้วย
ใช้ในการการเข้า-ออกอาคาร

- แทนการใช้บัตรเสียบ Smart card (สมาร์ทการ์ด) เนื่องบัตรแถบแม่เหล็กเมื่อมีการใช้งานนานๆจะมีการชำรุดสูง แต่บัตรแบบ RFID ไม่มีการสัมผัสและเครื่องสามารถอ่านข้อมูลระยะไกลได้ด้วย
ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (e-ticket)

- บัตรทางด่วน บัตรรถไฟฟ้าใต้ดิน บัตรแมงมุม ใช้ RFID ช่วยประหยัดเวลาในการต่อคิวชำระเงินได้มาก
ใช้กับการจ่ายเงิน

- โทรศัพท์มือถือที่มีเครื่องอ่าน NFC (เอ็นเอฟซี) ฝังอยู่สามารถทำงานเป็น RFID tag ได้ ซึ่งต่างจากเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีในปัจจุบันที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องอ่านเพียงอย่างเดียว การทำงานในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะใช้ใน Application (แอปพลิเคชั่น) ในเรื่องการเงิน เช่น การจ่ายเงินชำระค่าผ่านทาง การจ่ายเงินตาม POS (พีโอเอ็ส) ต่าง ๆ เพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือไปใกล้กับเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี ที่ติดตั้งไว้ที่จุดชำระเงิน ก็สามารถทำการชำระเงินได้แทนการชำระเงินด้วยบัตรอาร์เอฟไอดี หรือเงินสด
การพัฒนาระบบ RFID มิได้มีจุดประสงค์เพื่อมาแทนที่ระบบอื่นที่มีการพัฒนามาก่อนหน้า เช่น ระบบบาร์โค้ด แต่เป็นการเสริมจุดอ่อนต่างๆ ของระบบอื่นทำให้เพิ่มความรวดเร็วในการทำงานอย่างมากของระบบ
ขอขอบคุณบทความดีๆจากเว็บไซต์ https://www.mindphp.com